11/11/58

ตัวอย่างดาวเทียมสำรวจทรัพยากรของต่างประเทศ

ดาวเทียม SPOT

ดาวเทียม SPOT อยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส ร่วมกับประเทศในกลุ่มยุโรป อุปกรณ์บันทึกข้อมูลของดาวเทียม SPOT ประกอบด้วย High Resolution Visible (HRV) จำนวน 2 กล้อง คือระบบหลายช่วงคลื่น (Multispectral Mode) มี 3 ช่วงคลื่น และระบบช่วงคลื่นเดียว (Panchromatic Mode) สมรรถนะของ HRV ที่สำคัญประการหนึ่งคือสามารถถ่ายภาพแนวเฉียงและนำมาศึกษาในลักษณะ 3 มิติได้ ซึ่งให้รายละเอียดได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ข้อมูลจากดาวเทียม SPOT สามารถนำไปใช้ศึกษาพื้นที่ป่า การทำแผนที่การใช้ที่ดิน ธรณีวิทยา อุทกวิทยา แหล่งน้ำ สมุทรศาสตร์ และชายฝั่ง

 
ภาพดาวเทียม SPOT

ดาวเทียม ERS
ดาวเทียม ERS-1 (European Remote Sensing Satellite) พัฒนาโดยองค์การอวกาศแห่งยุโรป (European Space Agency – ESA) มีคุณสมบัติพิเศษในการบันทึกข้อมูลแบบ active sensor คือ เรดาร์ สามารถถ่ายภาพทะลุเมฆ และวัตถุบางชนิดได้ สามารถบันทึกข้อมูลในเวลากลางคืน และในทุกสภาพอากาศ บันทึกข้อมูลในช่วงคลื่นไมโครเวฟ การสะท้อนช่วงคลื่นของข้อมูลจากดาวเทียม ERS-1 จะขึ้นกับคุณสมบัติความเรียบและความขรุขระของผิวหน้าวัตถุเป็นสำคัญ ยิ่งเรียบจะให้ค่าการสะท้อนต่ำ ขณะที่ความขรุขระจะให้ค่าสะท้อนสูงขึ้นตามส่วน แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณามุมตกกระทบ (incident angle)  ขณะที่บันทึกข้อมูลด้วย ปัจจุบันดาวเทียมชุดนี้ปฏิบัติการอยู่ 2 ดวง คือ ERS-1 และ ERS-2


ภาพดาวเทียม ERS

ดาวเทียม JERS-1
องค์การพัฒนาอวกาศแห่งชาติญี่ปุ่น (NASDA) ได้พัฒนาโครงการระบบดาวเทียมที่ถ่ายภาพทะลุเมฆได้โดยใช้เรดาร์ ชื่อว่าดาวเทียม JERS-1 (Japanese Earth Resources Satellite) นับเป็นดาวเทียมรุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะสูง โดยมีอุปกรณ์ถ่ายภาพทะลุเมฆที่เรียกว่า Synthetic Aperture Radar (SAR) แล้วยังมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า Optical Sensors (OPS) ซึ่งอุปกรณ์ชนิดนี้ใช้ CCD ในการรับแสงสะท้อนจากผิวโลก แยกออกเป็น 7 ช่วงคลื่น ตั้งแต่ช่วงคลื่นที่ตามองเห็น จนถึงช่วงคลื่นอินฟราเรด โดยมีรายละเอียดของภาพถึง 18 x 24 เมตร และสามารถถ่ายภาพในระบบสามมิติตามแนวโคจรได้ด้วย


ภาพดาวเทียม JERS-1

ดาวเทียม MOS-1
ดาวเทียม MOS-1 (Marine Observation Satellite) อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การพัฒนาอวกาศแห่งชาติญี่ปุ่น (National Space Development Agency-NASDA) มีอุปกรณ์บันทึกข้อมูล 3 ระบบ คือ
1. Multispectral Electronic Self Scanning Radiometer (MESSR) มี 4 ช่วงคลื่น ให้รายละเอียด 50 x 50 เมตร ใช้สำรวจทรัพยากรเช่นเดียวกับข้อมูล MSS ขอดาวเทียม LANDSAT
2. Visible and Thermal Infrared Radiometer (VTIR) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกับอุณหภูมิต่างๆ ในทะเลอันเป็นประโยชน์ต่อการประมง และข้อมูลการปกคลุมของเมฆและไอน้ำ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการพยากรณ์อากาศ
3. Microwave Scanning Radiometer (MSR) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณไอน้ำ ปริมาณน้ำ ลมทะเล การแผ่ปกคลุมของหิมะ และน้ำแข็งในทะเล


             ภาพดาวเทียม MOS-1 



อ้างอิงแหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น