ปัจจุบันมีดาวเทียมจำนวนมากถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ
โดยมีวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกัน
เราสามารถแบ่งตามประเภทการใช้งานได้ดังนี้
ดาวเทียมสื่อสาร (Communication Satellite)
ดาวเทียมในยุคแรกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการสื่อสาร
เช่น วงจรโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศและการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ข้ามทวีป เป็นต้น
ดาวเทียมประเภทนี้มักมีวงโคจรแบบค้างฟ้า ทำให้สะดวกและสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา
เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารได้รอบโลกจะต้องใช้ดาวเทียมทั้งสิ้น 3 ดวง คือ
1. ดาวเทียมเหนือมหาสมุทรอินเดีย
เพื่อติดต่อระหว่างทวีปยุโรปและทวีปเอเซีย
2. ดาวเทียมเหนือมหาสมุทรแปซิฟิค
เพื่อติดต่อระหว่างทวีปเอเซียและทวีปอเมริกา
3. ดาวเทียมเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก
เพื่อติดต่อระหว่างทวีปอเมริกาและทวีปยุโรป
โดยมีองค์การ อินเทลแซท (Intelsat – International Telecommunication
Satellite Consortium) ซึ่งจัดตั้งในปี พ.ศ. 2507 เป็นผู้ให้บริการ โดยได้จัดสร้างดาวเทียมอินเทลแซทและมีการสร้างดาวเทียมใหม่ทดแทน เมื่อดวงเก่าหมดอายุการใช้งาน
ปัจจุบันคือ ดาวเทียมอินเทลแซท8 สถานีดาวเทียมภาคพื้นดินในระยะแรกจะต้องใช้จานสายอากาศขนาดใหญ่และอุปกรณ์ราคาแพงจำนวนมาก สถานีดาวเทียมภาคพื้นดินแห่งแรกของประเทศไทยอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งยังคงใช้งานมาจนถึงปัจจุบันเพื่อให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีดาวเทียมสื่อสารมีวงโคจรค้างฟ้า เช่น ดาวเทียมไทยคม ดาวเทียมปาลาปา ดาวเทียมเอเซียแซท เป็นต้น ซึ่งดาวเทียมเหล่านี้สามารถส่งสัญญาณโทรทัศน์ไปถึงบ้านผู้ชมได้โดยตรง โดยใช้อุปกรณ์หรือจานสายอากาศขนาดเล็กในการรับสัญญาณโทรทัศน์ อาศัยสถานีดาวเทียมขนาดใหญ่ในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ขึ้นไปยังดาวเทียมเพียงสถานีเดียว นอกจากนี้ยังมีดาวเทียมที่ให้บริการสื่อสารประเภทอื่น เช่น บริการโทรศัพท์ในเรือเดินทะเล บริการโทรศัพท์บนเครื่องบินโดยสาร บริการโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมสำหรับพื้นที่ห่างไกล บริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เป็นต้น
ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา (Meteorological
Satellite)
ดาวเทียมประเภทนี้จะถ่ายภาพก้อนเมฆที่ปกคลุมโลก
วัดอุณหภูมิของชั้นบรรยากาศ ติดตามการก่อตัวและเคลื่อนที่ของพายุ ซึ่งนักพยากรณ์อากาศจะนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ เพื่อรายงานสภาพอากาศและพยากรณ์อากาศให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ
ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาแบ่งตามลักษณะการโคจรได้ 2 ประเภทคือ
1. ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาประเภทวงโคจรค้างฟ้า
(Geostationary Meteorological Satellite) ได้แก่ ดาวเทียม GOES-W ดาวเทียม GOES-E
ดาวเทียม METEOSAT ดาวเทียม GMS-5 ดาวเทียม INSAT ดาวเทียม FY-2 เป็นต้น ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาที่มีวงโคจรค้างฟ้าจะถ่ายภาพลักษณะก้อนเมฆและส่งภาพกลับมาเป็นระยะ ซึ่งเมื่อนำภาพเหล่านี้มาทำ Animation จะทำให้เห็นลักษณะและทิศทางการเคลื่อนที่ของพายุได้อย่างชัดเจน
2. ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาประเภทวงโคจรวงกลม
(Near Polar Orbit Meteorological Satellite) ได้แก่ ดาวเทียม NOAA ดาวเทียม FY-1 ดาวเทียม METEOR-2 เป็นต้น ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาที่มีวงโคจรแบบวงกลมจะเคลื่อนที่ผ่านจุดเดิมบนพื้นโลกวันละ 2
ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 นาที
โดยจะถ่ายภาพและส่งสัญญาณข้อมูล ณ ช่วงเวลาที่โคจรผ่าน (Real Time) ถ้าดาวเทียมโคจรผ่านเหนือประเทศไทยเราจะได้ภาพถ่ายจากมหาสมุทรอินเดียไปจนถึงอ่าวตังเกี๋ยประเทศเวียดนาม เริ่มต้นจากตอนล่างของประเทศจีนไปจนถึงประเทศสิงคโปร์
ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา จะถ่ายภาพของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สะท้อนกลับจากผิวโลก โดยจะถ่ายภาพในช่วงคลื่นที่สามารถมองเห็นด้วยตา และคลื่นพลังงานความร้อนในช่วงอินฟาเรด เพื่อใช้ตรวจวัดไอน้ำในบรรยากาศ
ดาวเทียม NOAA จะส่งสัญญาณภาพแบบ APT ซึ่งเป็นภาพขาวดำ
2 ภาพ คือ ภาพที่มองเห็นด้วยตา และ ภาพรังสีอินฟาเรด
มีขนาดความละเอียดของภาพเท่ากับ 4 กิโลเมตร โดยใช้ความถี่ 137
MHz และจะส่งสัญญาณภาพแบบ HRPT มีขนาดความละเอียดของภาพเท่ากับ
1.1 กิโลเมตร โดยใช้ความถี่ 1,691 MHz และแยกช่องสัญญาณของภาพสำหรับแต่ละช่วงคลื่นของแถบสี
การรับสัญญาณแบบ APT สามารถดัดแปลงได้จากเครื่องวิทยุสื่อสารและมีต้นทุนไม่สูงมากในการรรับสัญญาณ
แต่การรับสัญญาณแบบ HRPT จะต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะที่มีราคาแพง
ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร (Remote
Sensing Satellite)
ดาวเทียมในกลุ่มนี้ใช้สำหรับหาข้อมูลหรือข่าวสารเกี่ยวกับวัตถุ
สิ่งของ หรือพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งอยู่ไกลจากเครื่องมือที่ใช้วัด
โดยที่เครื่องมือเหล่านั้นไม่ได้สัมผัสกับวัตถุหรือสิ่งของเป้าหมายดังกล่าวเลย
ตัวอย่างดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ได้แก่ ดาวเทียม IKONOS, ดาวเทียม QUICKBIRD,
ดาวเทียม RADARSAT-1, ดาวเทียม LANDSAT-5,
ดาวเทียม SPOT-5, ดาวเทียม LANDSAT-7,
ดาวเทียม IRS-1C เป็นต้น
การใช้ประโยชน์จากดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ได้แก่ การทำแผนที่
การวางแผนด้านการเกษตร สำรวจ ทรัพยากรน้ำ สำรวจการใช้ที่ดิน สำรวจทางธรณีวิทยา
สำรวจพื้นที่ป่าไม้ ติดตามไฟไหม้ป่า สำรวจด้านสมุทรศาสตร์ เป็นต้น
ดาวเทียมกำหนดตำแหน่ง (Global
Position System Satellite)
เป็นโครงการของกระทรวงกลาโหม
ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการทหาร
แต่อนุญาตให้พลเรือนสามารถใช้งานได้ภายใต้ข้อจำกัด เช่น
มีความผิดพลาดของตำแหน่งที่วัดได้มากกว่าอุปกรณ์ทางการทหาร
และไม่สามารถใช้ในขณะที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมากได้ (เช่น ขีปนาวุธข้ามทวีป)
ระบบ GPS หรือ Global Position System ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ
1. ส่วนอวกาศ
(Space Segment) ประกอบด้วยดาวเทียม 24 ดวง แบ่งวงโคจรออกเป็น 6 ระนาบๆละ 4 ดวง โคจรสูงจากพื้นโลก 20,200 กิโลเมตร มี inclination
= 55 องศา (มุมเอียงกับเส้นศูนย์สูตร 55 องศา)
2. สถานีควบคุมภาคพื้นดิน (Control Station Segment) ประกอบด้วยสถานีย่อย 5
แห่งกระจายอยู่ทั่วโลกและสถานีควบคุมหลักหนึ่งสถานี
ตั้งอยู่เมืองโคโรลาโดสปริง รัฐโคโรลาโด ประเทศสหรัฐอเมริกา
เพื่อทำหน้าที่ปรับแก้ไขข้อมูลวงโคจร และข้อมูลเวลาของดาวเทียม
3. ส่วนผู้ใช้ (User Segment) แบ่งออกเป็นเครื่องรับ GPS ทางการทหาร และเครื่องรับ GPS สำหรับพลเรือนในการคำนวณหาตำแหน่งที่ถูกต้องนั้นเครื่องรับจะต้องรับสัญญาณได้จากดาวเทียมอย่างน้อย
4 ดวง พร้อม ๆ กัน เครื่องรับ GPS ที่มีขายในท้องตลาดสามารถรับสัญญาณจากดาวเทียมได้พร้อมกันถึง 12
ดวง ซึ่งจะสามารถบอกตำแหน่งได้ โดยมีความผิดพลาดไม่เกิน 6
เมตรในแนวราบ
ปัจจุบันเครื่องรับ
GPS มีราคาถูก (เริ่มต้นที่ 3,000
บาท) และมีขนาดเล็ก (เท่ากับเม้าท์ของเครื่องคอมพิวเตอร์) ทำให้เครื่องรับ GPS ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง เช่น
ช่วยนำทางในการเดินป่า ช่วยนำทางในการขับรถยนต์ ช่วยนำร่องอากาศยาน
ช่วยนำร่องการเดินเรือ ใช้ในการติดตามยานพาหนะ
หรือแม้กระทั่งการบอกตำแหน่งของเครื่องโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแผนที่โดยละเอียดเพื่อใช้ร่วมกับเครื่องรับ GPS ซึ่งช่วยให้ใช้งานได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ดาวเทียมในกิจการวิทยุสมัครเล่น
( Radio Amateur Satellite )
ดาวเทียมในกิจการวิทยุสมัครเล่น
มีชื่อเรียกว่า OSCAR – Orbiting Satellite Carrying Amateur Radio โดยส่งดาวเทียมดวงแรกคือ OSCAR I ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่
12 ธันวาคม พ.ศ. 2504 และปัจจุบันได้ปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศมากกว่า
50 ดวง โดยมีดาวเทียมที่สามารถใช้งานได้ในปัจจุบันประมาณ 10
ดวง ดาวเทียมในกิจการวิทยุสมัครเล่น มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการทดลองในด้านต่างๆที่เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารและการพัฒนาดาวเทียมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
โดยได้นำเสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์อย่างมากมาย เช่น โครงการ Microsat
ซึ่งได้จัดสร้างดาวเทียมที่มีขนาดเล็ก คือ 1 ลูกบาศก์ฟุตซึ่งสามารถส่งขึ้นอวกาศได้โดยใช้จรวดขนาดเล็ก เช่น
ขีปนาวุธข้ามทวีปที่เลิกใช้งานแล้ว หรือฝากส่งไปกับจรวดขนาดใหญ่ที่สามารถส่งดาวเทียมขนาดเล็กได้หลายดวงพร้อมกัน
หรือโครงการทดสอบกล้องถ่ายภาพบนดาวเทียมขนาดเล็ก
ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรที่มีขนาดเล็ก เป็นต้น
ผู้ที่สนใจจะใช้งานดาวเทียมในกิจการวิทยุสมัครเล่นสามารถทำได้โดยการเข้าสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นในประเทศที่อาศัยอยู่
และจะสามารถใช้ดาวเทียมวิทยุสมัครเล่นได้ทุกดวงที่เปิดให้บริการอยู่
ดาวเทียมประเภทอื่นๆ
เราสามารถนำดาวเทียมไปใช้กับงานได้หลากหลายสาขางาน ทางด้านสำรวจทางทะเลก็เป็นอีกสาขาหนึ่งที่ดาวเทียมได้เข้าไปมีบทบาท
ในปีพ.ศ. 2521 ดาวเทียมสำรวจทางทะเลดวงแรกได้ถูกส่งขึ้นไปสู่วงโคจร ได้แก่ ดาวเทียม
Seasat แม้ว่าจะไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก
แต่ก็เป็นการบุกเบิกให้เกิดการสำรวจทางทะเลกว้างขวางต่อไป ดาวเทียมอีกดวงที่มีบทบาทสำรวจสำหรับงานสำรวจทางทะเล
ได้แก่ ดาวเทียม Robinson 34 ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และนักชีววิทยาทางทะเลสามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวของทุกสรรพสิ่งในท้องทะเลได้ด้วยการใช้งานจากดาวเทียมนั่นเอง
โดยนำข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมสำรวจทางทะเลมาตรวจวิเคราะห์สภาพแวดล้อม
ลักษณะสิ่งมีชีวิตความแปรปรวนของคลื่นลมและกระแสน้ำ จนกระทั่งได้รายงานสรุปสภาพทางทะเลที่สมบูรณ์
ดาวเทียมเพื่อการสำรวจอวกาศเป็นเทคโนโลยีที่ยังใหม่ โดยดาวเทียมประเภทนี้จะถูกนำขึ้นไปสู่วงโคจรที่สูงกว่าดาวเทียมประเภทอื่นๆลึกเข้าไปในอวกาศ
ดังนั้นดาวเทียมสำรวจอวกาศจึงให้ภาพที่ไร้สิ่งกีดขวางใดๆไม่มีชั้นบรรยากาศของโลกมากั้น
ดาวเทียมสำรวจอวกาศบางดวงก็จะนำอุปกรณ์ตรวจจับ และบันทึกคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า บางดวงก็จะมีหน้าที่ตรวจจับและบันทึกรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต
ดาวเทียมที่น่าสนใจอีกประเภทหนึ่งก็ คือ ดาวเทียมเพื่อการจารกรรมหรือสอดแนม
ที่นิยมมากที่สุดคือประเภทที่ใช้เพื่อการลาดตระเวน โดยมีการติดกล้องเพื่อใช้ในการถ่ายภาพพิเศษ
สามารถสืบหาตำแหน่งและรายละเอียดเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการ ดาวเทียมจะมีอุปกรณ์ตรวจจับ
คลื่นวัตถุด้วยเรด้าร์และแสงอินฟราเรด ซึ่งสามารถตรวจจับได้ทั้งในที่มืด หรือที่ที่ถูกพรางตาไว้
ดาวเทียม COSMOS เป็นดาวเทียมสอดแนมที่รู้จักกันดีของรัสเซียและ
ดาวเทียม Big Bird เป็นดาวเทียม สอดแนมของสหรัฐอเมริกา
นอกจากนั้นยังมีดาวเทียมสอดแนมทางทะเลเพื่อใช้ในการค้นหาเรือรบ เรือดำน้ความสามารถในการตรวจจับหัวรบนิวเคลียร์หรือวัตถุที่ฝังตัวอยู่ใต้ทะเลลึก
ดาวเทียม Elint ถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันจากการลอบจู่โจม
ดาวเทียม Elint เป็นดาวเทียม
สอดแนม ที่มีลักษณะพื้นฐานในการตรวจจับคลื่นสัญญาณวิทยุและแผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งฐานทัพของ
ประเทศต่างๆ
อ้างอิงแหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น