การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ ประกอบด้วย 2 วิธี ดังนี้
การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศด้วยสายตา
ก่อนที่จะทำความเข้าใจกับการแปลความหมายภาพถ่ายดาวเทียม
ผู้ฝึกขั้นต้นน่าจะทำการแปลหรือตีความจากภาพถ่ายทางอากาศก่อน
เพื่อให้เกิดความชำนาญ ในการวิเคราะห์ตีความข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศไม่มีความซ้ำซ้อนมากนักเมื่อเทียบกับภาพถ่ายจากดาวเทียม แต่ทั้งนี้ต้องใช้ข้อควรจำ รายละเอียด
ความชำนาญ
และความรู้ภูมิหลังเข้าช่วยด้วย
ซึ่งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการแปลตีความมีดังนี้
หลักในการแปลตีความ
ในการแปลตีความ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดควรดำเนินงานตามลำดับ ดังนี้
1) แปลตีความจากสิ่งที่เห็นชัด เข้าใจและวินิจฉัยง่ายที่สุดไปหายากที่สุด (Easy
to Difficulty) ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย
สำหรับการแปลตีความสิ่งที่ยากและซ้ำซ้อนควรทำทีหลัง
2) แปลตีความจากสิ่งที่คุ้นเคยและพบเห็นในชีวิตประจำวันหรือสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่ประสบการณ์
และ ความรู้พื้นฐานของผู้แปลตีความ
3) แปลตีความจากเรื่องทั่วๆไปเป็นกลุ่มใหญ่
แล้วพิจารณาแยกรายละเอียดในแต่ละประเภท ซึ่งเราเรียกว่าการแปลตีความจากหยาบไปหาละเอียด
4) แปลตีความเรียงลำดับเป็นระบบให้ครบวงจร (Compete Cycle) เป็นแต่ละประเภทๆ ไม่ควรสลับไปสลับมาปะปนกัน เพราะจะมีผลทำให้รายละเอียดของข้อมูลไม่ต่อเนื่อง หรือบางครั้งอาจจะหายไปได้
5) แปลตีความโดยใช้ปัจจัยหรือข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กัน (Date
Associative)
อันเป็นพื้นฐานที่จะวินิจฉัยข้อมูลได้อย่างถูกต้อง
ปัจจัยในการพิจารณาแปลตีความ
นอกจากการแปลตีความดังกล่าวข้างต้นแล้ว
การแปลตีความยังขึ้นอยู่กับความละเอียดละออและความคุ้นเคยถึงการปรากฎของรายละเอียดของภูมิประเทศในภาพถ่ายซึ่งจะอาศัยปัจจัยต่างๆช่วยในการวินิจฉัย พิสูจน์ทราบ
เพื่อจะบอกถึงรายละเอียดของสิ่งของนั้นๆปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยมีอยู่ 5 ประการ
(บางครั้งเรียกว่าหลัก 5’s ในการแปลตีความ) ประกอบกัน
1) ขนาด (Size) ขนาดของวัตถุหรือสิ่งก่อสร้างพื้นที่ต่างๆที่เราไม่ทราบนั้นสามารถที่จะพิจารณาได้จากมาตราส่วนของภาพถ่าย
หรืออาจนำมาเปรียบเทียบกับวัตถุที่เราทราบขนาดแล้วหรือทราบขนาดอย่างหยาบๆก็ได้ ตัวอย่างเช่น
ในบริเวณที่มีสิ่งก่อสร้างเล็กๆ
ติดๆกันอยู่ในพื้นที่สิ่งที่เรามองเห็นเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆนั้นก็น่าจะเป็นบ้าน ที่พักอาศัยของประชาชน
ส่วนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่หรือยาวๆอาจตีความได้ว่าเป็นศูนย์การค้าหรือสถานที่ราชการ เป็นต้น
2) รูปร่าง รูปแบบ (Shape, Pattern) รูปร่างของวัตถุและสิ่งต่างๆที่ปรากฏในภาพถ่าย จะมีเอกลักษณ์เฉพาะของมันเอง
โดยเฉพาะที่เราสามารถแปลตีความได้
เช่น สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมามักจะปรากฏออกมาในแนวตรงและแนวโค้งที่ราบเรียบ
แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างจะมีแนวหรือรูปร่างที่ไม่แน่นอน สำหรับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นได้แก่ ทางหลวงแผ่นดิน ทางรถไฟ
สะพาน คลอง และสิ่งก่อสร้างต่างๆซึ่งเราอาจเปรียบเทียบภาพที่เป็นแนวสม่ำเสมอหรือมีระเบียบ กฎเกณฑ์
(ซึ่งเรียกว่า Regular shape) กับภาพที่ไม่มีกฎเกณฑ์ (ซึ่งเรียกว่า
Irregular shape) ของสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นซึ่งได้แก่
แม่น้ำ ลำธาร และแนวป่า
อย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้รูปร่างยังเป็นตัวช่วยให้สามารถแปลความหมายของรายละเอียดข้างเคียงได้อย่งดีเช่น
ห้วย มีลักษณะคดเคี้ยวค่อนข้างกว้าง
และโค้งของลำน้ำนั้นมีลักษณะเปลี่ยนค่อนข้างช้า
จะทำให้ผู้แปลตีความทราบว่าลักษณะภูมิประเทศบริเวณใกล้เคียง มีความลาดชันไม่มากหุบเขาจะมีขนาดกว้าง และถ้า
ลำธารมีลักษณะเป็นเส้นตรงจะเป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ว่าน้ำในลำธารจะไหลเชี่ยวและแรง
ถ้าลักษณะภูมิประเทศใกล้เคียงเป็นภูเขาหรือหุบเขาแคบในช่องลึก ทิศทางการไหลของน้ำในลำธารจะสังเกตได้ดังนี้ คือ มุมของตัววี
(V) ซึ่งเกิดในบริเวณที่ต่อกับระหว่างลำห้วยใหญ่และเล็กจะชี้ทิศทางที่น้ำไหลไป
ถ้าหากมีเกาะหรือหาดทรายตามปกติจะมีรูปร่างเป็นหยดน้ำเป็นรูปวงกลม สี่เหลี่ยม
เส้นตรง เส้นโค้ง เราสามารถนำมาใช้ในการพิจารณาตีความได้ เช่น
รถยนต์จะมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมพื้นผ้า
ถังน้ำมันจะมีรูปร่างเป็นวงกลม
3) เงา (Shadow) ในภาพถ่ายทางอากาศนั้นเงานับว่ามีประโยชน์ในการแปลตีความ เพราะจะเป็นปัจจัยเสริมให้เราได้ทราบถึงวัตถุนั้นๆได้ เช่น
เงาของตึก ถังน้ำประปา หรือปล่องไฟเนื่องจากภาพถ่ายทางอากาศที่เห็นนั้นเป็นมุมมองจากเบื้องบน
ดังนั้นภาพของถังน้ำประปาและปล่องไฟจะปรากฏเป็นวงกลมหรือจุดเท่านั้น แต่พอมีเงาปรากฏขึ้นให้เห็นจะช่วยให้เราสามารถแปลตีความได้ถูกต้องแม่นยำขึ้น
และความยาวของเงาที่ปรากฏนั้นสามารถทำให้เราคำนวณหาความสูงของสิ่งก่อสร้างได้อีกด้วย
4) ความเข้มของสี (Shade, Tone
or Texture)
ความเข้มของสีที่ปรากฏในภาพถ่ายถ้าเป็นภาพถ่ายด้วยฟิล์มสีจะพิจารณาได้ง่าย
แต่โดยทั่วไปภาพถ่ายทางอากาศมักจะใช้ฟิล์มขาวดำรายละเอียดของภาพจึงปรากฏออกมาเป็นความเข้มของสีเทา ซึ่งเริ่มตั้งแต่สีขาวจนถึงสีดำ ความเข้มของภาพนี้เองที่เราเรียกว่าโทนของสี (Tone)
ซึ่งโทนของสีขึ้นอยู่กับความหยาบละเอียดของเนื้อภาพ (Texture) อีกด้วย
นอกจากนี้จะขึ้นอยู่กับปริมาณของแสงสว่างที่สะท้อนจากวัตถุรายละเอียดต่างๆมายังกล้องถ่ายภาพ เช่น
รายละเอียดที่สะท้อนมากก็มีสีขาวหรือจาง
ส่วนรายละเอียดที่สะท้อนน้อยจะมีสีดำหรือเกือบดำ ปริมาณของการสะท้อนแสงขึ้นอยู่กับชนิดของรายละเอียดและมุมสะท้อนแสง ดังนั้น สีของรายละเอียดเดียวกันที่ปรากฏบนภาพถ่ายสองภาพอาจมีสีต่างกันก็ได้ หลักที่ใช้ในการประกอบพิจารณา คือ
วัตถุที่มีผิวเรียบสะท้อนแสงได้ดีกว่าวัตถุที่มีผิวหยาบ
ภาพจะมีความสว่างกว่าวัตถุที่มีผิวหยาบทั้งๆที่มีสีเดียวกันซึ่งช่วยทำให้ทราบถึงชนิดของวัตถุอย่างกว้างๆ เช่น
เครื่องบินที่มีสีขาวจอดบนลานบินผิวคอนกรีตจะและเห็นแตกต่างกันได้ชัด น้ำใสสะท้อนแสงไม่ดีจึงมีสีเกือบดำ
แต่ถ้าน้ำขุ่นจะสะท้อนแสงได้ดีกว่าจะปรากฏเป็นสีเทา
ถนนที่เป็นดินลูกรังจะปรากฏว่าเป็นสีขาวกว่าถนนที่ลาดพื้นเสร็จแล้ว เป็นต้น
ถ้าเราได้สนใจและระมัดระวังในเรื่องการแปลโดยคำนึงถึงความผันแปรดังกล่าวแล้ว เรื่องของ
Tone และ Texture จะถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพมาก
5) สิ่งแวดล้อม (Surrounding Objects)
ในการแปลตีความภาพถ่ายบางครั้งการตัดสินใจแยกแยะวัตถุทำได้ยากเนื่องจากมีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้นสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆภาพหรือวัตถุที่เราต้องการพิจาราณานั้นอาจเป็นตัวช่วยในการแปลความหมายได้
ในขณะเดียวกันผู้แปลต้องมีความเข้าใจถึงรูปแบบและระบบการจัดการ ตัวอย่างเช่น
สิ่งก่อสร้างใหญ่ๆที่มักจะตั้งอยู่ข้างทางรถไฟก็คือโรงงานอุตสาหกรรมหรือโกดังเก็บสินค้า โรงเรียนก็มักจะมีสนามฟุตบอลอยู่ด้วย อาคารของทหารมักจะปรากฏเสาธง ที่จอดรถ
เส้นทางเข้าออก
ป้อมยามรักษาการณ์
สิ่งเหล่านี้จะบอกให้ทราบว่าคืออาคารกองบังคับการทหาร เป็นต้น
การเห็นแบบทรวดทรง (Stereovision)
ภาพถ่ายทางอากาศในแนวดิ่งจะไม่ปรากฏความต่างระดับคือจะมีลักษณะแบนราบไม่เห็นทรวดทรงซึ่งเรียกว่า Stereoscopic Vision
หรือเรียกง่ายๆว่า
Stereovision คือจะเห็นทั้งทางยาว ทางกว้าง
และทางลึก (ระยะทาง) ในเวลาเดียวกัน
ซึ่งจะทำให้เห็นได้ก็หมายความว่าเราจะต้องเห็นภาพเดียวกันจากสองตำแหน่งที่ต่างกัน
เกือบทุกคนสามารถมองเห็นภาพทรวดทรงหรือภาพสามมิติได้ นั้นคือภาพอาจมองเห็นสองครั้ง
จากดวงตาข้างซ้ายข้างหนึ่งและดวงตาข้างขวาอีกข้างหนึ่งแล้วสมองจะเป็นผู้นำภาพที่เห็นจากดวงตาทั้ง 2
ข้างมารวมกัน
แล้วแปลความหมายออกมาในรูปของความลึกหรือระยะทางได้ สาเหตุที่มนุษย์เห็นทางลึกได้นั้น เพราะ
1. ผลของระยะห่างศูนย์กลางแก้วตาทั้งสอง (Interpupillary Distance) ระยะดังกล่าวย่อมแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล แต่ความแตกต่างจะอยู่ในระยะ 2.5 นิ้ว ถึง 3 นิ้ว
2. ดวงตาทั้งสองแลเห็นวัตถุในมุมที่ต่างกัน
บุคคลที่สายตาดีจะแลเห็นภาพทางลึกได้ในช่วงระยะไม่เกิน 1,800 ฟุต เมื่อเลยระยะนี้ขึ้นไป
เส้นแนวการเห็นจะมีลักษณะเกือบขนานกันทำให้ภาพแต่ละภาพที่ดวงตาแต่ละข้างรับมาแล้วส่งผ่านไปยังสมองตามวิถีทางจักษุประสาท มีลักษณะเกือบไม่แตกต่างกันเลยจึงไม่อาจเห็นทางลึกได้ ถ้าหากจะต้องการให้เห็นทางลึกได้ในระยะที่เกินกว่า
1,800 ฟุต
แล้วมนุษย์ต้องอาศัยเครื่องมือทางจักษุประสาทช่วยเช่น กล้องส่องสองตา
หรือกล้องส่องทางไกลที่สร้างขึ้นโดยทำให้เลนส์ทั้งสองแยกห่างออกจากกันให้มากกว่าระยะศูนย์กลางแก้วตาทั้งสองของมนุษย์
ในการถ่ายภาพทางอากาศนั้นในแต่ละแนวบินจะถ่ายภาพถ่ายซ้อนกันอยู่ประมาณ 56 % นั้นคือในภาพถ่ายแผนที่ 1
จะมีภาพในแผนที่ 2 ติดอยู่ 56 % เราเรียกว่า
“ภาพซ้อน” (Overlap)
นอกจากนี้การถ่ายภาพในบริเวณใดบริเวณหนึ่งที่กว้างมากๆนั้น การถ่ายภาพในแนวบินที่ 1
อาจได้ภาพไม่หมด
ก็อาจถ่ายในแนวบินที่ 2 ใหม่แนวบินที่ถ่ายภาพใหม่นี้จะต้องบินขนานกับแนวบินที่ 1
และต้องมีการถ่ายภาพซ้อนกันด้วย ภาพซ้อนในแนวบินนี้เรียกว่า “ภาพซ้อนด้านข้าง” (Side lap) โดยทั่วไปแล้วภาพจะซ้อนทับกันอยู่ระหว่าง 15-20% ดังรูป
ภาพถ่ายที่จะนำมาดูทรวดทรง 3 มิติต้องเป็นภาพถ่ายคู่ทรวดทรง (Stereo pair)
ซึ่งเป็นภาพที่ถ่าย
เป็นแผ่นๆต่อเนื่องกันซึ่งแต่ละแผ่นต้องมีส่วนภาพถ่ายทับหรือซ้อนกัน
ภาพแสดงตำแหน่งเลนส์กล้องเคลื่อนที่ไปจากการถ่ายครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2
ตามรูปจะเห็นได้ว่ากล้องได้เคลื่อนที่จากการถ่ายครั้งที่
1 ไปอยู่ที่การถ่ายครั้งที่
2 ภาพที่ได้จะเป็นภาพซ้อนหรือทับกัน เราเปรียบเทียบเสมือนตากล้องเอามาแทนตาของเรา
ระยะห่างระหว่างการถ่ายครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ใช้แทนระยะห่างศูนย์กลางแก้วตาทั้งสองของเราจึงใช้ภาพแทนมาแทนตาเราและก็เห็นในลักษณะเดียวกัน
การมองเห็นทรวดทรงนั้นต้องมองดูด้วยตาสองตาจึงจะเห็นทรวดทรงในภาพถ่ายได้ ถ้ามองภาพด้วยตาข้างเดียวจะเห็นทรวดทรงไม่ได้เพราะเห็นเพียงมุมในตำแหน่งเดียว
การมองเห็นทรวดทรงของภาพเราสามารถดูด้วยตาเปล่าทั้ง 2 ข้างได้โดยเราจะต้องมองดูภาพวัตถุจากภาพถ่ายที่
Overlap กัน
คือตาข้างหนึ่งมองที่แผ่นที่หนึ่งและอีกข้างหนึ่งมองที่อีกแผ่นหนึ่งบนวัตถุชิ้นเดียวกัน
วิธีการนี้ต้องอาศัยการฝึกให้เกิดทักษะในการมองภาพดังกล่าว
แต่จะง่ายขึ้นมากถ้าหากเราใช้กล้องเพื่อการดูภาพทรวดทรงช่วย กล้องที่ช่วยให้มองเห็นภาพดังกล่าวเรียกว่า สเตอเรโอสโคป
(Stereoscope)
ซึ่งจะขอพูดเพียง 2 ชนิดเท่านั้นคือ
1. Pocket Stereoscope เป็นกล้องสเตอเรโอสโคปแบบกระเป๋า
เหมาะที่พกพาติดตัวไปที่ต่างๆได้ราคาไม่แพงนัก
แต่ก็มีข้อจำกัดคือเรื่องของกำลังขยาย และระยะระหว่างจุดที่เหมือนกันในภาพถ่ายคู่จำกัดให้มีระยะห่างประมาณเท่ากับระยะฐานตาของผู้มอง
กล้องชนิดนี้ประกอบด้วยแว่นขยายติดอยู่บนกรอบโลหะและมีขาตั้งสำหรับถ่างออกหรือพับเก็บได้
2.
Mirror Stereoscope เป็นกล้องสเตอเรโฮสโคปที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ ขนาดใหญ่ หนัก เสียหายง่าย ราคาแพง
ประกอบด้วยเลนส์มองภาพและเลนส์ขยาย 4 ชิ้น ติดอยู่กับกรอบโลหะขาตั้งแท่นสเตอเรโอสโคป ชนิดนี้มีขนาดใหญ่กว่าสเตอเรโอสโคปแบบกระเป๋า ถอดพับเก็บในหีบเก็บได้มีประสิทธิภาพสูง นอกจากดูภาพ
3 มิติแล้วสามารถหาค่าความสูงของวัตถุในภาพถ่ายได้โดยใช้ประกอบกับ Parallax bar และ Stereo plotting
สำหรับการเขียนเส้นชั้นความสูง (Contour) โดยทั่วไปนิยมใช้ในงานที่ละเอียด
วิธีจัดภาพเพื่อดูทรวดทรง
1) จัดภาพให้เรียงตามลำดับก่อนหลังตามแนวการบิน โดยให้เงาของวัตถุหันเข้าหาตัวผู้ดู
2)
วางภาพถ่ายคู่ทรวดทรงลงบนพื้นราบโดยให้รายละเอียดบนแผ่นทื่ 1 ตรงกับ รายละเอียดในแผ่นที่ 2
(บริเวณที่เป็นภาพซ้อนกัน)
3)
กางขากล้องสเตอเรโอสโคปลงบนภาพคู่โดยให้เลนส์ทางซ้ายมืออยู่บนภาพแผ่นซ้ายและเลนส์ขวามืออยู่บนภาพแผ่นขวา
4)
ค่อยๆดึงภาพทั้งสองออกจากกันตามแนวการบิน
จนมองเห็นรายละเอียดภาพที่ปรากฏใน overlap ของภาพด้านซ้ายมือปรากฏโดยตรงปรากฏด้านซ้าย และรายละเอียดที่ปรากฏใน overlap
ของภาพทางด้านขวามือปรากฏโดยตรงภายใต้เลนส์ด้านขวามือ
5) จากภาพถ่ายและกล้องสเตอเรโอสโคปในตำแหน่งนี้ ภาพ 3 มิติน่าจะเกิดให้เห็นได้ อาจมีสิ่งเล็กน้อยที่ต้องกระทำ เช่น
การจัดภาพ
หรือปรับตำแหน่งของสเตอเรโอสโคป
เพื่อให้เหมาะสมกับตาแต่ละคน
เป็นต้น
จากนี้เนินเขาจะปรากฏสูงขึ้นมาและหุบเขาก็จะมองดูลึกลงไปเหมือนกับภาพที่เรามองเห็นจากบนเครื่องบินนั้นเอง
ข้อควรระวัง ที่อาจทำให้เกิดภาพทรวดทรงผิด ซึ่งเกิดขึ้นจากการวางภาพไม่เรียงลำดับก่อนหลัง จะทำให้ภาพที่ปรากฏผิดไปจาภาพที่เป็นจริง เช่น ภาพภูเขา
ส่วนที่สูงกลับปรากฏเป็นที่ต่ำส่วนที่ต่ำปรากฏเป็นที่สูง เป็นต้น
นอกจากนี้ก็มีการมองดูภาพคู่ทรวดทรง
(Stereo pair)
ไม่เกิดทรวดทรง ทั้งนี้เพราะวางภาพไม่เรียงตามแนวการบินถ่ายภาพ
หรือการใช้ภาพแผ่นเดียวกันมาเป็นภาพคู่ทรวดทรงในภาพคู่หนึ่งจะดูให้เป็นภาพทรวดทรงได้เฉพาะบริเวณที่มีส่วน
Overlap และ Side lap เท่านั้น
การแปลความหมายจากภาพถ่ายทางอากาศจะง่ายและถูกต้องมากยิ่งขึ้นหากได้นำภาพ 3 มิติเข้ามาช่วยด้วย อย่างไรก็ตามหลักของ 5’s
ซึ่งได้แก่ Size, Shape,
Shadow Shade และ Surrounding
Objects จำเป็นต้องนำมาใช้ด้วย ซึ่งจะทำให้ภาพที่ดูนั้นมีทั้งความกว้าง ยาว
และลึกเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้นนั้นเอง
การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศด้วยระบบคอมพิวเตอร์
วิธีการจำแนกข้อมูลดาวเทียมด้วยระบบคอมพิวเตอร์แบ่งออกได้ 2 วิธี ได้แก่
1. การจำแนกประเภทข้อมูลแบบกำกับดูแล (SUPERVISED CLASSIFICATION) เป็นวิธีการจำแนกข้อมูลภาพซึ่งจะต้องประกอบด้วยพื้นที่ฝึก
(TRAINING AREAS) การจำแนกประเภทของข้อมูลเบื้องต้น
โดยการคัดเลือกเกณฑ์ของการจำแนกประเภทข้อมูล
และกำหนดสถิติของของประเภทจำแนกในข้อมูล จากนั้นก็จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งภาพ
และรวบรวมกลุ่มชั้นประเภทจำแนกสถิติคล้ายกันเข้าด้วยกัน
เพื่อจัดลำดับขั้นข้อมูลสุดท้าย นอกจากนี้แล้วก็จะมีการวิเคราะห์การจำแนกประเภทข้อมูลลำดับสุดท้าย
หรือตกแต่งข้อมูลหลังจากการจำแนกประเภทข้อมูล (POST-CLASSIFICATION)
2.
การจำแนกประเภทข้อมูลแบบไม่กำกับดูแล (UNSUPERVISED
CLASSIFICATION) เป็นวิธีการจำแนกประเภทข้อมูลที่ผู้วิเคราะห์ไม่ต้องกำหนดพื้นที่ฝึกของข้อมูลแต่ละประเภทให้กับคอมพิวเตอร์
มักจะใช้ในกรณีที่ไม่มีข้อมูลเพียงพอในพื้นที่ที่การจำแนก
หรือผู้ปฏิบัติไม่มีความรู้ความเคยชินในพื้นที่ที่ศึกษา
วิธีการนี้สามารถทำได้โดยการสุ่มตัวอย่างแบบคละ
แล้วจึงนำกลุ่มข้อมูลดังกล่าวมาแบ่งเป็นประเภทต่างๆ
คุณสมบัติของนักแปลตีความ
ในการแปลตีความต้องอาศัยความรู้หลายสาขา (Multidisciplinary) มาประกอบเพื่อวินิจฉัยสิ่งที่ถูกต้อง การที่จะแปลตีความนั้นโดยทั่วไปนักแปลตีความที่ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้
1) ความรู้ภูมิหลัง (Background) การวินิจฉัยหรือแปลตีความพื้นที่ใดก็ตาม หากผู้แปลตีความมีความรู้และประสบการณ์ในด้านนั้นอยู่แล้ว ย่อมจะได้เปรียบกว่าบุคคลที่มาจากสาขาอื่น เช่น ผู้แปลที่มาจากสาขาเกษตรโดยทั่วไปแล้วจะแปลตีความในพื้นที่เกษตรได้ดีกว่าบุคคลที่มาจากสาขาอื่น เนื่องจากมีความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับธรรมชาติ และลักษณะของพื้นที่มาก่อนนั้นเอง
2) ความสามารถทางสายตา (Visual Acuity) การแปลตีความจำเป็นต้องอาศัยความสามารถทางสายตาของผู้แปลเป็นองค์ประกอบด้วย เนื่องจากการวินิจฉัยจากภาพจำเป็นต้องพิจารณารายละเอียดที่ปรากฏในภาพ ลักษณะของเนื้อภาพ (Texture) ความเข้ม (Tone) ผู้ที่มีสายตาดีย่อมสามารถจำแนกพื้นที่ได้ดีกว่า
3) ความสามารถของจิตใจ (Mental Acuity) ความสามารถของจิตใจมีความสัมพันธ์กับภูมิหลัง ประสบการณ์ ความรักในงาน การเป็นคนใจเย็น รอบคอบ ชอบสังเกต จะเป็นผู้ที่มีความสามารถแปลภาพได้ดี
4) ประสบการณ์ (Experience) ผู้แปลตีความที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของบริเวณที่ทำการแปลภาพถ่าย จะสามารถวินิจฉัยสิ่งที่ปรากฏในภาพได้ดีกว่าผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวสามารถสั่งสมได้จากการศึกษา การเดินทาง การท่องเที่ยว การชอบสังเกต และจดจำ ตลอดทั้งต้องมีความสนใจและมีนิสัยชอบอีกด้วย ความผิดพลาดจากการแปลหากนำมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุในความผิดพลาดแล้ว จะทำให้ผู้แปลสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยข้อมูลในพื้นที่ ให้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้นด้วย
อ้างอิงแหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ
ธวัช บุรีรักษ์ และบัญชา
คูเจริญไพบูรณ์. การแปลความหมายในแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ.
อักษรวัฒนา. กรุงเทพ.